แนะนำหนังสือแบบเรียน ระดับประถม สำหรับเด็ก homeschool ที่เด็กเรียนรู้ได้เองได้อย่างง่ายดาย

ช่วงที่ผ่านมามีคำถามเข้ามาเรื่อย ๆ เกี่ยวกับแบบเรียน หนังสือเรียน ว่าครอบครัวเราใช้หนังสืออะไรในการสอนลูก ช่วงนี้กำลังทำรายงานการจัดการศึกษา เลยรวบรวมทั้งหมดมาไว้ให้เผื่อเพื่อน ๆ เป็นแนวทาง

พ่อแม่ที่เริ่มต้นทำ homeschool หลาย ๆ บ้านมักห่วงเรื่องวิชาการพื้นฐานว่าจะมีการจัดการเรียนการสอนอย่างไร อยากแบ่งปันประสบการณ์ของที่บ้านดังนี้ครับ

1. จริง ๆ แล้วเด็กเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มากมาย แต่ไม่ได้จัดเรียงเนื้อหาเหมือนในระบบโรงเรียน เช่น เด็กบางคนอาจจะดู youtube เรื่องอะตอม เรื่องอวกาศตั้งแต่เล็ก ๆ แต่ในหลักสูตรอาจจัดไปไว้ปีหลัง ๆ หรือบางคนบ้านทำเกษตรย่อมรู้เรื่องเกี่ยวกับต้นไม้ ใบหญ้าไปก่อนแล้ว

แต่อย่างไรก็ตามถ้าพ่อแม่กังวลอยากให้แน่ใจว่าลูกมีพื้นฐานเท่ากับเด็ก ๆ คนอื่นที่ไปโรงเรียน สามารถหาซื้อแบบเรียนตามชั้นปีมาให้ลูกอ่าน + ทำแบบฝึกหัดก็พอช่วยให้มั่นใจว่าเด็กจะผ่านตาเนื้อหาเท่า ๆ กับเด็กที่ไปโรงเรียนได้ครับ

แต่ (อีกแล้ว) …. เอาจริง ๆ ผ่านไปสักพักเด็ก ๆ ก็อาจลืมได้ซึ่งเป็นเรื่องปรกติ เช่นเดียวกับเด็กที่ไปโรงเรียน ทำข้อสอบได้คะแนนดี แต่เวลาผ่านไปก็ลืม เพราะจริง ๆ แล้ว การจดจำที่ดีเกิดจาก การมีความรู้สึกประทับใจในเรื่องนั้น ๆ หรืออีกแง่หนึ่งคือมีประสบการณ์ที่มีอารมณ์ร่วม ทำให้เราจำได้ไม่ลืมครับ

2.หนังสือเหล่านี้ผ่านการค้นหาคัดสรร โดยแม่หน่อย แม่และadmin page สีฝุ่น ร้านหนังสือใหญ่โตบางเราที่เราเข้าไปเดินหา เราไม่ได้หนังสือสักเล่ม เพราะส่วนใหญ่บนชั้นมีแต่ โจทย์ สมการให้ทำ พิมพ์ขาวดำไม่น่าอ่าน ไม่ได้มีคำอธิบายอะไรมากมาย สะท้อนทิศทางของสังคมเรา

ข้อสังเกตอีกเรื่องคือ หนังสือที่เลือกมามักเป็นหนังสือแปล ผมขอขอบคุณสำนักพิมพ์ที่ได้จัดพิมพ์หนังสือดี ๆ เหล่านี้ให้เราได้มีทางเลือกให้กับเด็ก ๆ จึงชวนให้เราช่วยสนับสนุนสำนักพิมพ์ด้วยครับ หากท่านมีหนังสือดี ๆ แนะนำ ขอชวนให้ comment ไว้ด้านล่างเผื่อเพื่อน ๆ ท่านอื่นได้เลยครับ

3. ในช่วง ป.1-2 เราไม่ได้ใช้หนังสือเหล่านี้นะครับ มาเริ่มใช้ตอนสีฝุ่นป. 3 เพราะเราจดทะเบียนเร็ว ทำให้อายุน้อยกว่าชั้นปีและเรารอจนเค้าพร้อม จึงเริ่มเรียนจากหนังสือแบบเรียน ซึ่งใช้เวลาแค่ 2-3 เดือนก็สามารถเรียนแบบเรียนของ ป.1-2 จนหมด ซึ่งเห็นได้ว่า เมื่อเด็กพร้อมการเรียนรู้จะมีประสิทธิภาพมาก แทนที่จะเรียนกันเป็นปี แค่ 2 – 3 เดือนก็จบแล้ว

ทีนี้จะรู้ได้อย่างไรว่าเด็กพร้อม ผมเห็นเพื่อน ๆ สีฝุ่นหลายคนอ่านหนังสือออกได้ตั้งแต่เด็ก ๆ ตอนเล็ก ๆ ซึ่งผมคิดว่า
3.1) เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ถ้าเค้าชอบ สนใจ อ่านได้ มีความสุข กับการเรียนจากแบบเรียน ผมไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องรอ
3.2) ถ้าเราเริ่มสอนแล้ว ลูกไม่ค่อยเข้าใจ สอนแล้วอารมณ์ไม่ดีทั้งเรา ทั้งลูก เราควรจะหยุด ซึ่งจริง ๆ แล้วอาจจะเป็นที่เทคนิคการสอนของเราที่ไม่ดีพอก็ได้ ถ้าอยากเร่งเราอาจจะต้องปรับการสอน หรือหาครูที่ใจเย็นเข้าใจกว่า หรือเราอาจจะหยุดเพื่อรอความพร้อมลูก ซึ่งที่บ้านก็ใช้วิธีหยุด แล้วผ่านไปสักพักก็ลองใหม่ หรือสอนช้าลง สอนน้อยลงก็ช่วยได้ครับ
3.3) ผมวิเคราะห์ว่า มันเป็นได้ทั้ง 3 ส่วนคือ 1 เด็ก 2 ผู้สอน 3 สื่อ ถ้าทุกอย่างดีพร้อมเราเรียนรู้ได้เร็ว แต่ถ้าอย่างหนึ่งอย่างใดอ่อน เราต้องปรับตรงนั้น อย่างเด็กไม่พร้อมเราก็รอ ถ้าเราสอนห่วย เราต้องเรียนรู้เพิ่มหาวิธีอื่น หรือหาคนอื่นมาสอน ส่วนเรื่องสื่อ เด็กแต่ละคนยังมีสไตล์การเรียนรู้ที่ไม่เหมือนกัน สื่อหรือกระบวนการสอนก็อาจจะต้องต่างกันด้วยครับ

4. จะเห็นได้ว่า ภาษาไทยสีฝุ่นยังเรียนของป.3 อยู่เลย จริง ๆ เพิ่งจบเล่ม ป.2 ซึ่งผมคิดว่า ถ้าเราจะเชื่อใจและยึดเด็กเป็นศูนย์การเราอาจจะต้องยอมแบก แรงกดดันจากสังคม ทำความเข้าใจความกังวลใจของตัวเองบ้าง เพราะเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน และเรามีโอกาสที่จะปรับการเรียนรู้ให้เหมาะกับเค้าย่อมเป็นเรื่องดี

แต่อย่างที่บอก ถ้าผ่านไปจนถึงจุดที่แบกความกังวลใจไว้ไม่ไหว เราก็สามารถเร่งในเรื่องนั้น ๆ ได้ ซึ่งการเร่งที่ห่วยคือการบังคับเคี่ยวเข็นให้เค้าเรียน แต่จริง ๆ แล้วเราควรเร่งด้วยการหาวิธีที่ดีที่สุด ที่มีความละเอียดเข้าใจเด็ก หาวิธีการที่ดี เหมาะกับเค้า เช่นแม่หน่อยเคยให้สีฝุ่นเรียนภาษาจากเพลง หรือถ้าเราทำไม่ได้ก็หาครูดี ๆ ที่เข้าใจเด็ก

เด็กทุกคนเรียนรู้ทุกอย่างได้ถ้าเราเข้าใจเขามากพอ… ไม่รู้เห็นด้วยกันไหมครับ

สุดท้าย แนวทางของที่บ้านเป็นแนวทางหนึ่ง เพื่อน ๆ บ้านเรียนอื่นใช้วิธีต่างกันไป ซึ่งจะเหมาะสมกับเด็กแต่ละคน วิถีชีวิตของแต่ละครอบครัว แต่เราสามารถเรียนรู้จากกันและกันเพื่อประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละบ้าน เพราะข้อดีที่สุดของการทำบ้านเรียนคือ เราปรับหลักสูตรเฉพาะบุคคลได้ครับ

ปล. หนังสือส่วนใหญ่น่าจะหาได้จาก SE-ED กับ Asia book ครับ ส่วนที่เป็นของสำนักพิมพ์ MIS สามารถหาได้ที่เว็บสำนักพิมพ์เช่นกันครับ 

 

ไม่พบรูปภาพ

Facebook Comments