วันนี้อยากจะมาเล่าถึงประสบการณ์การเรียนภาษาที่ 3 ภาษาที่สี่ ที่ห้า ของเด็กว่าเริ่มช่วงไหนอย่างไรดี
ก่อนอื่นอยากเล่าก่อนว่า บ้านผมใช้ระบบ สองภาษาสร้างได้ คือ พ่อพูดภาษาอังกฤษกับลูกตลอดเวลา ลูกจึงได้เป็นเด็กสองภาษา สื่อสารภาษาไทยและอังกฤษได้ ภาษาที่ 2 นี่ผมไม่มีปัญหาเท่าไหร่เพราะผมพูดพอได้ แต่พอเป็นภาษาที่สาม เช่น ภาษาจีน หรือภาษาที่ 4 5 เช่น ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเยอรมัน เกินกำลังเลยต้องพึ่งพาครูสอนภาษา แต่จะทำยังไงให้ง่ายสำหรับเด็ก ภาษาที่ 3 ในที่นี้จึงขอหมายถึงภาษาที่พ่อแม่หรือคนรอบตัวไม่สามารถพูดได้หรือสร้างสภาพแวดล้อมให้เด็กมีการใช้อยู่เป็นประจำนะครับ
จากการที่ลูกผมได้ภาษาอังกฤษเป็นฐาน ตรงนี้ช่วยในเรื่องการเรียนภาษาอื่นได้ง่ายขึ้น เพราะสื่อการสอนต่าง ๆ มันจะมีจากภาษาอังกฤษไปภาษาอื่น มากกว่าภาษาไทยไปภาษาอื่น ๆ
ข้อเขียนต่อไปนี้เป็นความเห็นของผมที่ประมวลมาจาก การฟังเรื่องราวจากผู้คนต่าง ๆ ทั้งเพื่อน ๆ บ้านเรียนที่มีลูกอายุมากกว่าลูกผม คลิบ TED และบทความต่าง ๆ
3 ความรู้หลักที่ผมใช้อ้างอิง คือ
1. บทความเรียนเปียโนเด็กเล็ก เริ่มเมื่อไหร่ ยังไงดี ที่ผมเคยเขียนไว้ ในนั้นประเด็นสำคัญคือ การเรียนดนตรีมีลักษณะคล้ายหรือเหมือนกันภาษา เด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิด – 7 ขวบ เรียนรู้ผ่านการเลียนแบบ ยังไม่ได้เข้าใจเรื่องนามธรรมมากนัก ดังนั้นการจัด “การเรียน-การสอน” จึงอาจเป็นเรื่องที่สร้างความเครียดให้แก่เด็กและไม่ได้ผล การสอนผ่านการเล่น การใช้ชีวิตประจำวันจึงสำคัญมากกว่า โดยเฉพาะในเรื่องภาษา การใช้ระบบ 2 ภาษาในครอบครัว ในลักษณะที่ พ่อแม่ แต่ละคนพูดคนละภาษากับลูก จึงเป็นทางเลือกที่ดี
2. คลิบ The linguistic genius of babies ของคุณ Patricia Kuhl (มี sub ไทย)
โดยสรุป คุณ Patricia เล่าว่าเด็กเล็กจะเรียนรู้ภาษาจากการฟังได้เร็วมาก แต่ต้องเป็นการฟังจากมนุษย์ที่เห็นหน้าค่าตากัน และความสามารถนี้จะค่อย ๆ ลดลงเมื่ออายุมากขึ้นตามกราฟ คือ เรียนรู้ได้ดีที่สุดในช่วง แรกเกิด – 7 ขวบและจะค่อย ๆ ลดลงเมื่ออายุมากขึ้นตามตาราง

3. การสังเกตและพูดคุยกับเพื่อน ๆ ที่ทำบ้านเรียน คือเด็กกลุ่มนี้ ผู้ปกครองส่วนใหญ่จะฟังเสียงเด็ก เวลาจะส่งลูกไปเรียนอะไร มักจะใช้วิธีโน้มน้าว และถ้าลูกไม่ต้องการเรียน มักจะไม่ส่งไปเรียน เพราะไม่ได้ผลที่ดีและไม่ยั่งยืน จากการสังเกตและพูดคุยมักพบว่า เด็ก ๆ พอเข้าอายุ 9 – 10 ขวบจะเริ่มเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ชวนให้เรียนอะไรก็มักจะไม่เออออตามเหมือนตอนเด็ก ๆ ที่ชักชวนเรียนอะไรยังยอมลองเรียน ไปเรียนตามคำขอ ซึ่งในส่วนนี้อาจจะขึ้นกับบุคลิกเด็กด้วย
สรุปหน้าต่างแห่งโอกาส 3 ปีทอง 7 – 9 ขวบ
ถ้าประมวลจาก 3 ข้อตามที่ผมกล่าวด้านบนจะเห็นได้ว่า หน้าต่างของโอกาสในการเรียนภาษาที่ 3 4 5 ที่ผู้ปกครองอย่างเราพูดไม่ได้ ไม่สามารถสร้างสภาพแวดล้อมให้ลูกได้ใช้ภาษานั้นบ่อย ๆ จะมีหน้าต่างของโอกาสอยู่ในช่วง ที่ลูกอายุ 7 – 9 ขวบ เป็นช่วงที่ลูกเริ่มสามารถ นั่งเรียนในห้องแบบมี “การเรียน-การสอน”ได้และยังพอโน้มน้าวได้ง่าย ถ้าเราไม่ได้มีตารางเรียนอะไรเยอะแยะจนลูกเหนื่อย การให้ลูกเรียนภาษาในช่วงนี้ โดย
1. จัดหาครูที่สอนโดยเน้น การฟังและพูดเป็นหลักก่อน เพราะโครงสร้างประโยค คำศัพท์ต่าง ๆ เราเรียนรู้ตอนโตได้ แต่การฟัง การใช้ลิ้น การออกเสียงต่าง ๆ ถ้าฝึกฝนตั้งแต่เด็กน่าจะง่ายกว่าตอนโต
2. ใช้ app ในมือถือแทปเล็ต ช่วยในกาเรียนรู้เพื่อนประหยัดเงิน และได้ใช้ภาษานั้นบ่อยขึ้น
3. ภาษาที่ 3 4 5 นี้ไม่ง่ายเหมือนภาษาที่ 2 ที่พ่อแม่มักจะพอพูดได้ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมการใช้งาน แต่ภาษาเหล่านี้ เราพูดไม่ได้ จึงต้องใช้เวลามากกว่า ต้องการความต่อเนื่องยาวนานกว่า และเห็นผลน้อย ต้องอดทน
สุดท้ายอย่าลืมออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ
อ้าวทำไมหักมุมอย่างนี้ เหมือนจะไม่เกี่ยวกัน แต่การสร้างเสริมสมองในเด็กเล็กไม่ได้มีเพียง เรื่องวิชาการ ภาษาเท่านั้น แต่การใช้สัมผัสต่าง ๆ ของร่างกาย ตา หู จมูก ลิ้น นั้นสำคัญไม่แพ้กัน การวิ่งเล่นกลางแจ้ง และเล่นเสรียังสำคัญมากสำหรับเด็ก และที่สำคัญคือผมไม่ต้องการสร้างความเครียดให้กับผู้ปกครองท่านอื่น ๆ เพราะในแง่หนึ่งภาษาที่ 3 – 4 นี้ก็เหมือนเช่นวิชาต่าง ๆ ที่เรียนในโรงเรียน มีลักษณะเรียนตุนไว้ จะได้ใช้จริงหรือไม่ก็เป็นเรื่องของอนาคต เป็นเหมือนการต่อจุดในชีวิต ถ้าสามารถส่งเสริมให้ลูกได้ก็เป็นเรื่องยินดี ถ้าไม่สามารถยังมีอีกหลาย ๆ เรื่องที่ลูกสามารถเรียนรู้และสนุกกับมันได้ เช่น การทอผ้า งานฝีมือ วาดรูป งานไม้ งานเกษตร การทำอาหาร ฯลฯ ยังมีเรื่องอื่น ๆ ที่สำคัญอีกมากมายนอกเหนือจากภาษา และเด็กที่มีความใฝ่รู้ รักการเรียนรู้ยังไงก็สามารถเรียนได้ตลอดเวลา ดังนั้นเราจึงต้องระวังว่า เราไม่ได้เกำลังยัดเยียดการเรียนรู้ให้เด็ก ๆ มากเกินไปจนเค้าหมดความสนใจในการเรียนรู้
สรุป
ทั้งหมดนี้เป็นการประมวลผลที่รวบรวมมาจากประสบการณ์และความรู้ 3 ข้อหลักที่ได้กล่าวมา ไม่ใช่กฎเกณฑ์ตายตัว ทุกวันนี้ยังคอยสังเกตติดตามผลจากลูกสาวอยู่ ท่านใดที่อยากรู้ พัฒนาการและผลการจัดการเรียนรู้ดังกล่าวก็สามารถติดตามได้ที่ www.facebook.com/foonhoom หรือ www.seefoon.com
********
นอกจากภาษาแล้ว ศิลปะเป็นอีกศาสตร์ที่สำคัญสำหรับเด็ก เพราะช่วยส่งเสริมกระบวนการคิด จินตนาการสำหรับเด็ก เป็นฐานสำหรับการใช้สมองในอนาคต แนะนำอ่าน ศิลปะเด็ก ส่งเสริมอย่างไรให้ได้ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น
สำหรับชาวเชียงใหม่ที่ต้องการส่งเสริมศิลปะให้กับบุตรหลาน ที่บ้านเปิดสอนศิลปะ เรียน วันอาทิตย์ เสาร์และพุธ (ตอนนี้เสาร์เกือบเต็มแล้ว) ถ้าใครสนใจสามารถ ติดต่อได้ที่ เบอร์ 089 759 2504 ดูรายละเอียดได้ที่ โรงเรียนศิลปะแหลมคมเชียงใหม่