ในช่วงที่ผ่านมาจะพบว่า นักธุรกิจใหญ่อย่าง แจ็ค ม่า ได้พูดถึงว่า เด็กควรพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์จากการเล่นดนตรีและศิลปะ ซึ่งสอดคล้องกับนักการศึกษาคนสำคัญอย่าง เคน โรบินสัน ที่พูดถึงว่าในปัจจุบันโรงเรียนเป็นแหล่งทำลายความคิดสร้างสรรค์ และเห็นว่าโรงเรียนควรส่งเสริมและให้ความสำคัญกับศาสตร์ด้านศิลปะเพิ่มขึ้น ส่ิงที่ทั้งสองเห็นตรงกันคือ ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งสำคัญสำหรับอนาคต
ในเด็กเล็กผมเห็นว่าการวิ่งเล่นกลางแจ้งเป็นส่วนสำคัญที่สุด จากนั้นจึงเป็นเรื่องของ ภาษา ดนตรี และศิลปะ ซึ่งทั้ง 3 ศาสตร์นี้มีความใกล้เคียงกันอยู่ ซึ่งผมเคยเขียนถึงเรื่องการเรียนดนตรีและภาษาในเด็กเล็กไว้ที่นี่

ครั้งนี้เลยอยากเล่าเรื่องศิลปะ โดยก่อนอื่นอยากจะแยกแยะให้เห็น ส่วนที่สำคัญ ๆ 2 ส่วนในศาสตร์เหล่านี้ก่อน
1. ส่วนที่เป็นเรื่องของทักษะ คือเป็นส่วนที่เราจำเป็นต้องฝึกฝนบ่อย ๆ หัดทำอยู่เป็นประจำ เพื่อที่สมอง ร่างกาย มือของเราจะสามารถทำงานสอดประสานตามที่เราต้องการได้ ถ้าเป็นเรื่องของดนตรีก็เหมือนกับการที่จะฝึกใช้เครื่องมือเครื่องดนตรีต่างๆจนคล่องแคล่ว ในภาษาคือการที่เรารู้จักคุ้นเคยกับโครงสร้างประโยค จำศัพท์ต่าง ๆ ได้ ในการทำงานศิลปะคือการที่เรารู้จักธรรมชาติลักษณะของสีชนิดต่างๆการไหลของของเหลวการใช้พู่กันหรือการเครื่องมือต่าง ๆ ความคุ้นเคยจำได้ ว่าเมื่อสองสีผสมกันจะให้สีออกมาประมาณไหนมีอารมณ์ความรู้สึกเช่นไร การฝึกในส่วนนี้บ่อยๆจะทำให้เราสามารถสร้างงานได้อย่างที่ใจคิด ได้ใกล้เคียงกับภาพในหัว หรือจินตนาการในใจของเรา รวมถึงสร้างงานได้ตามโจทย์ที่มีคนกำหนดให้ เช่น การวาดภาพเหมือนจากภาพที่เห็น หรือจากรูปภาพ ในเด็ก ๆ ก็เช่น การฝึกระบายสี การระบายสีลงในรูปต่าง ๆ ที่วาดมาแล้ว ซึ่งหลาย ๆ ครั้งเรามักเน้นเรื่องของทักษะ จนมองข้ามอีกส่วนที่สำคัญไป คือในส่วนที่ 2
2. ส่วนที่เป็นเรื่องของความคิด เรื่องของจินตนาการ เป็นเรื่องของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ การเริ่มต้นคิดจากความว่าง ความไม่มี เช่น การคิดว่าเราจะวาดอะไร หน้าตาเป็นอย่างไร จะเล่าเรื่องอะไร โดยไม่มีต้นแบบ แต่ส่งตรงมาจากความคิดในหัว ผมคิดว่าตรงส่วนนี้เองที่ไอสเตน์จึงกล่าวว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” ในแง่นี้ความรู้จึงเป็นเหมือนส่วนของทักษะ ซึ่งรู้ว่าเราจะทำอย่างไร แต่ถ้าเราไม่มีจินตนาการ เราจะไม่รู้ว่าเราจะทำอะไร หรือเราอาจจะทำได้แต่เพียง คัดลอก ทำซ้ำสิ่งที่มีอยู่แล้ว ในกรณีของดนตรี คือเราฝึกฝนทักษะจนสามารถเล่นเพลง แกะเพลงต่าง ๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว แต่เราไม่สามารถแต่งเพลงของเราเองได้ เพราะเราไม่มีไอเดีย ไม่มีความคิด ไม่สามารถสร้างเสียงใหม่ออกมาได้ หรือในกรณีภาษาคือ เราอาจะรู้ว่าเราจะพูดอย่างไร แต่เราไม่รู้จะพูด “อะไร” คือเราไม่มีเนื้อหา ไม่มีความคิด ทำให้ไม่สามารถสร้างสรรค์ภาษาให้สละสลวยได้
ดังนั้นการส่งเสริมให้เด็กคิดเล่าเรื่องของตัวเอง ผ่านงานศิลปะ การบันทึก การสนับสนุนให้เด็กคิดจินตนาการสร้างตัวการ์ตูน สัตว์หรือสิ่งของใหม่ ๆ ที่ไม่ได้มีอยู่จริง จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้เด็กได้ฝึกฝนและใช้ความคิดจินตนาการอย่างสม่ำเสมอ และเป็นเรื่องน่าแปลกที่ การส่งเสริมในแนวทางนี้คือการเริ่มต้นจากกระดาษเปล่า ซึ่งหาได้ง่ายและไม่มีค่าใช้จ่าย โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อสมุดระบายสีที่มีคนวาดรูปมาให้แล้ว
หากแรก ๆ เด็กอาจจะไม่รู้ว่าจะวาดอะไร เราอาจจะช่วยเขา นึกถึงสัตว์หรือสิ่งของ การผสมสัตว์หรือสิ่งของเข้าด้วยกันให้ได้เป็นสิ่งใหม่ หรือแนะนำแนวทางอื่น ๆ เท่าที่เราคิดได้ ให้เด็กเริ่มต้นคิด เพียงแต่ระมัดระวังไม่ระบุชัดเจนว่าจะให้วาดอะไรเพราะจะทำให้เขาหยุดคิด ระหว่างนี้ให้ความมั่นใจว่าสิ่งที่เด็กคิดไม่มีผิดถูก และชื่มชมเมื่อเค้าคิดได้ ชื่นชมในความพยายามของเค้า เพียงเท่านี้เราก็เริ่มต้นชวนเด็กคิดกันแล้ว
** ปล. ที่เล่าได้ขนาดนี้เพราะที่บ้านเปิดสอนศิลปะในแนวทางที่ครบทั้งสองส่วนทั้งเรื่องทักษะและความคิดสร้างสรรค์ สอนอยู่ที่เชียงใหม่ เรียน วันอาทิตย์ เสาร์และพุธ (ตอนนี้เสาร์เกือบเต็มแล้ว) ถ้าใครสนใจสามารถติดต่อได้ที่ เบอร์ 089 759 2504 ดูรายละเอียดได้ที่ โรงเรียนศิลปะแหลมคมเชียงใหม่