ความทรงพลังของ youtube ในการเรียนรู้และการสิ้นยุคแห่งการกำหนดสเปคมนุษย์

ผมและลูกต่างติด youtube หลังจากผมใช้สายตาเยอะเกินไปกับ facebook บนมือถือ จึงต้องย้ายมาอยู่บน youtube แทน เพราะว่าไม่ต้อง “จ้อง” ฟังได้ และได้ข้อมูลความรู้มากหมายหลากหลายแทน facebook ความรู้ตั้งแต่ชิ้นส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ รีวิวมือถือ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ busies model ของบริษัทจต่าง ๆ การติดกลอนประตู สารพัดเทคนิคการขายของทางอินเตอร์เน็ต

วันนี้ระหว่างที่ทานข้าว ลูกก็ดู youtube เช่นเดิมตามปรกติ ผมได้ยินคำว่า bitcoin กระเด็นเข้าหูบ่อยมาก จนนึกว่าลูกนั่งดูโฆษณา bitcoin ที่ผมมักเจอตอนต้นคลิบ ที่ไหนได้พอโผล่หัวไปดูปรากฎว่า ลูกกำลังดูการ์ตูนเรื่องนี้อยู่ และสักพักหนึ่ง เค้าก็ดูการ์ตูนเรื่องเดียวกันตอนอื่น ซึ่งเป็นเรื่องเกาหลีเหนือ !!! 555

ผมก็ไม่แน่ใจว่าเค้าจะรู้เรื่องแค่ไหน แต่ผมคิดว่า มนุษย์เราสามารถเรียนรู้อะไรแบบมั่ว ๆ ไม่ได้เรียงลำดับ สะสมไปเรื่อย ๆ ค่อย ๆ ประติดประต่อประสบการณ์ของตัวเอง จนเข้าใจภาพรวมทั้งหมด

หลาย ๆ ครั้งที่ผมพูดกับลูกในเรื่องบางเรื่องที่คิดว่าเค้าไม่น่าจะรู้ แต่เค้าบอกว่าเค้ารู้เรื่องนี้แล้ว เพราะเค้าดูจาก “alkdgfjqowejg” ใน youtube ซึ่งผมก็ฟังไม่ออกหรอกครับว่าเค้าดูจากเรื่องอะไร แต่เค้าเลยได้ยินและมีความรู้เรื่องในเรื่องนั้นมาบ้าง

ลูกผมอายุ 8 แปดขวบและผมทำบ้านเรียนให้ลูก ช่วงนี้ถึงฤดูการประเมินผลกาเรียนรู้ คำที่มักจะได้ยินจาก เจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตการศึกษา ที่มีหน้าที่ดูแลให้ทุกอย่างเป็นไปตามมาตรฐานการศึกษาของประเทศ ในช่วงนี้ก็คือมาตรฐานคุณภาพผู้เรียน ไม่ว่าคุณจะจัดการเรียนรู้ให้ลูกยังไงขอให้ได้มาตรฐานตามหลักสูตรแกนกลางของประเทศ ซึ่งผมคิดว่าการใช้มาตรฐานกลางแบบไม่มีวิจารณญาณนี่แหละครับที่นำพาการศึกษาให้ถอยหลังไปเรื่อย ๆ ดังที่ผมเคยเขียนถึงไว้ในเรื่อง เข้าใจเรื่องมาตฐานตัวชี้วัดและการประเมินผลการเรียนรู้จากรถ Toyota Ferrari และรถอีแต๋น 

ปลาปักเป้า โดยสีฝุ่น

ผมคิดว่าแนวทางการจัดการศึกษาในอนาคต เราจะต้องให้ความสนใจกับการติดตามการเรียนรู้ของเด็ก และนำมาประมวลผลในการวางแผนบทเรียน จัดวางสิ่งแวดล้อม ตระเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ให้เขามากกว่าที่จะกำหนดบทเรียนล่วงหน้าเป็นเวลาถึง 10 ปี !!!  (คือหลักสูตรแกนกลางที่เราใช้กันทุกวันนี้กำหนดใช้มาตั้งแต่ปี 2551) พูดอีกแบบก็คือ ก่อนที่ลูกผมจะเกิดมาในประเทศนี้ เขาถูกกำหนดมาแล้วว่าต้องรู้อะไรบ้าง !!!#$^%^*&

ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าลูกผมดู youtube อยู่เป็นประจำ ผมสามารถเข้าไปดูประวัติการเข้าชมของเขา และรู้ได้ว่าเขาได้ผ่านตาเรื่องอะไรไปบ้าง เช่นถ้าเขาเพิ่งดูการ์ตูนหรือสารคดีเกี่ยวกับ ป่าต้นน้ำ ผมสามารถสอบถามความสนใจของเขาในเรื่องนั้น ๆ ได้ ถ้าเขากำลังสนใจป่าต้นน้ำและอยากเห็นของจริง ผมจึงควรที่จะพาเขาไปทัศนศึกษาและเรียนรู้ในป่าต้นน้ำ อาจจะพาเข้าไปเที่ยว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ หรือถ้าเค้ากำลังดูคลิบเรื่อง ดวงดาวและอวกาศ ผมควรจะลงทุนหายืมหรือซื้อกล้องดูดาวมาวางทิ้งไว้รอบตัวเขา ให้เขาสนใจและร้องขอที่จะใช้กล้องตัวนั้น เวลาที่เด็กอยากรู้นั้นทรงพลังไม่แพ้ youtube ส่วนถ้าเวลาที่เขาไม่สนใจหรือถูกบังคับให้เรียนนั้น พวกเราคงรู้กันดีอยู่ว่าเป็นอย่างไร

ผมคิดว่าการกำหนดสเปคเป็นวิธีคิดของอุตสาหกรรม ที่ช่วยให้เราสามารถผลิตอะไรมาก ๆ เหมือน ๆ กันได้ในเวลาอันสั้นและประหยัดต้นทุน และการศึกษาของเราก็ออกแบบมาด้วยวิธีคิดดังกล่าว

แล้วเด็กของเราจะเติบโตในยุคสมัยแบบไหน เรายังต้องการสเปคมนุษย์แบบนั้นกันอยู่หรือเปล่า

ท่านที่อยากรู้ว่าลูกผมมีสเปคแบบไหนชวนให้ไปสอดส่องได้ที่ www.seefoon.com หรือ www.facebook.com/foonhome ครับ

Facebook Comments