เรื่องคาใจกับการไขปริศนา
เรื่องหนึ่งที่ผมฟังไปคาใจไป แต่พอฟังเรื่องไปเรื่อย ๆ ทำให้ได้รายละเอียดเพิ่มเติม จนเมื่อประติดประต่อกันแล้ว ผมก็ถึงบางอ้อ เรื่องนั้นคือ คาบเรียนของโรงเรียนในฟินแลนด์ที่แบ่งแต่ละวิชาจะเรียนกัน 1 ชั่วโมง แต่เรียนจริง ๆ 45 นาที พอครบ 45 นาทีแล้วครูจะให้เด็กหยุดและไล่เด็กไปวิ่งเล่นนอกห้อง ไม่ยอมให้เด็กอยู่ในห้อง คือจริง ๆ แล้วไม่ค่อยมีใครอยากอยู่ในห้องหรือจะมีเด็กที่อยากอยู่ในห้องไม่อยากไปหรือเปล่า เค้าจะไล่กันจริงจังขนาดไหนก็ไม่รู้แต่คนเล่าบอกว่า ยังไงก็ต้องให้เด็กออกไปวิ่งเล่น ไม่ว่าฝนตก หิมะออก ก็เตรียมเสื้อกันฝน เสื้อกันหิมะไป เมื่อฟังถึงตรงนี้ผมในฐานะ คนที่มีความเชื่อว่า ควรจะปล่อยให้เด็กไหลไปตามสิ่งตรงหน้า และไม่น่าบังคับเด็ก ก็รู้สึกแปลก ๆ ในใจและพยายามหาเหตุผล แบบ งง ๆ คนเล่าก็บอกว่า เค้าต้องการให้สมองของเด็กได้พักผ่อนและกลับมาสดใสพร้อมเรียนในคาบต่อไป
จนกระทั่งได้มาฟังเรื่องเล่าต่อไปว่า อย่างวิชาคณิตศาสตร์เด็ก ๆ จะไม่ได้เรียนกันเยอะ คือเด็กประถมนี่ประมาณบวก ลบ คูณ หาร เลขหลักร้อยได้เท่านั้น ที่เหลือไปเร่งเอาตอนมัธยม ในชั่วโมงเรียน 45 นาที ครูอาจจะเอาคลิบสอนการบวกมาเปิด แล้วดูคลิบเสร็จครูก็จะให้ทำแบบฝึกหัดตามหนังสือ ใครทำเสร็จก่อนก็วาดรูปไป พอครบ 45 นาทีใครทำได้เท่าไหนก็เท่านั้น ขนาดคนเล่าเองยังสงสัยว่า อ้าวแล้วคนที่ทำไม่เสร็จก็ขาดความรู้ส่วนนั้นไปสิ คำตอบคือ ไม่เป็นไรเพราะบทเรียนแต่ละบท ความยากต่างกันแค่นิดเดียว วันนี้ทำบทนี้ไม่เสร็จ พรุ่งนี้ทำบทใหม่ก็ได้ทำเรื่องเดิมอีกอยู่ดี 555 พอฟังมาถึงตอนนี้ ผมนึกถึง 2 -3 เรื่องที่เคยได้รับรู้มา ความรู้สึกแบบปริศนาได้ถูกเปิดเผยแล้วในการ์ตูนโคนันพรั่งพรูออกมา
Grit กัดไม่ปล่อย
“มันไม่ได้สำคัญว่าคุณทำได้เก่งแค่ไหนในวันนี้ แต่มันสำคัญที่ว่าคุณยังคงทำมันทุกวันและทำให้ดีขึ้นไปเรื่อย ๆ ไม่หยุด ไม่มีบรรลุมาตรฐาน มีแต่พัฒนาขึ้นไปเรื่อย ๆ”
เรื่องแรกที่ผมนึกถึงคือ หนังสือที่เพื่อนแนะนำชื่อ Grit: The Power of Passion and Perseverance ซึ่งท่านสามารถฟังสรุปจากคลิบนี้ มี sub ไทยด้วย
เล่าสั้น ๆ คือ มันไม่ได้สำคัญว่าคุณทำได้เก่งแค่ไหนในวันนี้ แต่มันสำคัญที่ว่าคุณยังคงทำมันทุกวันและทำให้ดีขึ้นไปเรื่อย ๆ ไม่หยุด ไม่มีบรรลุมาตรฐาน มีแต่พัฒนาขึ้นไปเรื่อย ๆ
ประเด็นนี้จึงตรงกับว่าทำไมห้องเรียนในฟินแลนด์จึงไม่เร่งเด็ก แต่ปล่อยให้เด็กแต่ละคน สามารถเดินไปได้เรื่อย ๆ โดยไม่ท้อไม่หยุดไปก่อนกับเป้าหมายที่ใหญ่ ไม่มีการต่อว่าเมื่อทำไม่ได้มีแต่การสนับสนุนให้เดินต่อไปได้ตามความเร็วของแต่ละคน
ทำน้อยแต่ได้มาก
ผมนึกถึงหนังสืออีกเล่มคือ “ทำน้อยแต่ได้มาก” ที่เคยอ่าน จะมีพวกเทคนิคแบ่งงานใหญ่ ๆ ยาก ๆ เป็นส่วนย่อย ๆ แล้วทำให้เสร็จทีจะส่วนทีละ job และการพักสมอง มีการพูดถึงข้อเสียของการทำงานต่อเนื่องที่ทำให้ประสิทธิภาพลดลง ซึ่งมีคนสรุปหนังสือไว้ที่นี่
การที่ให้เด็กพักทุก ๆ 45 นาที จึงเป็นการฝึกเทคนิคการทำงานที่ต้องมีการพักสมอง และพร้อมจะกลับมาต่องานได้อย่างสดชื่น ซึ่งผมว่าหลาย ๆ คนมีปัญหาเรื่องการพักแล้วไม่อยากกลับมาทำต่อ ต่อไม่ติด ที่นี่ฝึกตั้งแต่เด็กกันเลย
ความรู้สึกโง่เป็นกำแพงขนาดใหญ่สำหรับการเรียนรู้
ผมคิดว่าที่ฟินแลน์ออกแบบหลักสูตร ห้องเรียนและฝึกหัดครูให้มีความความละเอียดอ่อนและระมัดระวังท่าทีต่อเด็กมาก ซึ่งคลิบ TED ของคุณ Josh Kaufman ช่วยให้เราเห็นเหตุผลเบื้องหลังได้เป็นอย่างดี
คุณ Josh เล่าถึงการที่เราสามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ใน 20 ชั่วโมง ด้วยการแตกหัวข้อที่เราต้องฝึกฝนเป็นขั้นตอนเล็ก ๆ เหมือนเป้าหมายย่อย ๆ และให้ความสำคัญกับหัวข้อสำคัญในการเรียนรู้เรื่องนั้น ๆ โดยที่ไม่ต้องเรียนทีเดียวทั้งหมด พอไปสักพักหนึ่ง เราจะเรียนรู้เรื่องเหล่านั้นได้เองมากขึ้นเรื่อย ๆ คำพูดสำคัญที่ผมยกมาให้ฟังกันคือ
“ในช่วงแรกเริ่มของการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ คุณจะรู้สึกว่าตัวเองโง่มาก ๆ ความรู้สึกว่าตัวเองโง่ เป็นความรู้สึกที่แย่มาก…
…อุปสรรคสำคัญของการเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ จึงไม่ใช่ความฉลาด ไม่ใช่เรื่องขั้นตอนที่เรียนรู้เทคนิคหรือวิธีการ ในการทำสิ่งต่าง ๆ อุปสรรค์สำคัญเป็นเรื่องเกี่ยวกับอารมณ์ เรากลัวครับ และความรู้สึกว่าโง่ ก็เป็นกำแพงขวางไม่ให้เราลงมือทำงานเพื่อฝึกฝนตัวเอง”
การการศึกษาที่น่าทึ่งมาจากรายละเอียดที่ใส่ใจ
พอรวม 3 เรื่องที่ผมเล่าไป ผมรู้สึกทึ่งกับออกแบบระบบการศึกษาของฟินแลนด์ขึ้นไปอีก มีความละเอียดอ่อน ใส่ใจทุกรายละเอียดปลีกย่อย ระมัดระวังให้ความสำคัญกับอารมณ์ความรู้สึกของเด็ก ความสุขจึงเป็นสิ่งสำคัญในโรงเรียน ระมัดระวังท่าทีของครูที่มีต่อเด็ก เพื่อสนับสนุนให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ที่ผู้ใหญ่คิดว่าสำคัญ ด้วยความเร็วของตัวเด็กเอง ค่อย ๆ เดิน เดินเร็วเท่าที่แต่ละคนไปได้ โดยไม่ท้อหรือหยุดเสียก่อน ฝึกเด็กที่จะพักสมองและกลับมาที่งานของตัวเอง การเรียนรู้เป็นเรื่องเดียวกับการใช้ชีวิต การเล่น การดูแลตัวเอง การจัดการตัวเอง มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าความรู้
ผลผลิตที่ฟินแลนด์ยอมเดินทางที่ตนเองคิดว่าดีที่สุด เป้าหมายคือคุณภาพเยาวชน มากกว่าจะมองที่ คะแนนทดสอบระดับชาติ เช่น PISA ผมคิดว่า ถ้าเค้าตั้งเป้าที่คะแนน PISA เค้าคงเลือกทำอีกแบบ เค้าคงคิดถึงวิธีการติวข้อสอบ ว่ามีเทคนิดเดาตัวเลือกอย่างไร ช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับติวเด็กแล้วทำข้อสอบได้คะแนนสูงคือตอนไหน คงมีงานวิจัย ว่าทำยังไงเด็กถึงจะทำข้อสอบได้ดีตามมาก เป้าหมาย/ ตัวชีวัดที่ถูกก็พาเราไปถูกที่ ถ้าเราตั้งเป้าหมายผิด เราก็ไปผิด

เริ่มได้ที่ตัวเอง
มันเป็นเรื่องน่าเศร้า ที่ครูและผู้ใหญ่อย่างเราหากต้องทำงานอย่างหนักในทิศทางที่ผิด เหนื่อยก็เหนื่อยแต่ดอกผลก็ไม่งอกเงย ซ้ำยังถูกต่อว่าอีก เด็ก ๆ ก็เสียเวลาและความมั่นใจ
ผมไม่คิดว่าการเปลี่ยนแปลงจะเริ่มที่ นักการศึกษา ข้าราชการ หรือนักการเมืองคนไหน แต่น่าจะเริ่มจากเราทุก ๆ โดยเฉพาะผู้ปกครองที่มีเด็ก ๆ อยู่ในบ้าน ที่จะนั่งทบทวนว่าอะไรสำคัญกับชีวิต การศึกษาคืออะไร สถานการณ์แบบไหนที่เด็ก ๆ เรียนรู้ได้ดี และเด็ก ๆ ของเราควรได้อะไรจากการศึกษา ใบเกรดที่มีเด็กภูมิใจและเสียใจในแต่ละเทอม หรือ คุณค่าที่เด็กแต่ละคนได้พยายามเรียนรู้ในทางของตัวเอง พัฒนาตัวเองจากสิ่งที่ตัวเองสนใจ หรือทนเรียนอะไรที่มองไม่เห็นความเชื่อมโยงกับชีวิต คนสอนก็ตอบไม่ได้ รู้แต่ว่าเผื่อไว้ใช้ เรียนได้ไม่ดียังถูกกดดันต่อว่า
ระบบโรงเรียนที่เน้นความสุขของเด็ก ความละเอียดอ่อนของครูได้ถูกพิสูจน์แล้วว่าสร้างคนคุณภาพได้อย่างไร ที่เหลืออยู่ที่ว่าเราจะมาปรับใช้ได้ไหม แม้ว่าเราไม่สามารถปรับระบบของโรงเรียนได้ แต่ท่าทีของเราเอง ท่าทีของผู้ปกครองต่อคะแนนของเด็กสามารถปรับได้เลย การให้ความสำคัญส่งเสริมในสิ่งที่เด็กชอบไม่ต้องรอใคร ลูกไม่มีความสุขที่โรงเรียน ก็ทำให้ลูกมีความสุขที่บ้านได้
หลายคนอาจคิดว่ามันเป็นเรื่องอุดมคติหรือด้วยวัฒนธรรมที่ต่างกันมันคงเกิดขึ้นไม่ได้ในบ้านเรา แต่ผมคิดว่าเราสามารถทำได้และผมทำมาระยะหนึ่งแล้ว ครอบครัวผมจัดการศึกษาให้กับลูกคนเล็กด้วยตัวเอง และเมื่อเทียบเคียงกับสิ่งที่ได้ฟัง ประสบการณ์จากประเทศฟินแลนด์ ผมคิดว่าครอบครัวเราเดินอยู่ในแนวทางเดียวกันมีความใกล้เคียงมาก ซึ่งทุกท่านสามารถติดตามได้ที่ facebook See Foon บ้านเรียนเปื้อนฝุ่น หรือ www.seefoon.com ผมจะทยอยเล่าเรื่องการจัดการเรียนรู้ของลูกไว้ที่นั่นครับ