เรื่องบังเอิญ
บทเรียนจากฟินแลนด์ครั้งนี้เกิดขึ้นจากเรื่องบังเอิญ ที่มีคุณแม่โฮมสกูลท่านหนึ่งไปนวดที่ร้านนวด บังเอิญที่หมอนวดถามหาลูกสาวที่เป็นเด็กบ้านเรียน และบังเอิญที่ิอดีตนักวิชาการศึกษาจากกระทรวงศึกษาธิการที่ตอนนี้ใช้ชีวิตกับครอบครัวที่ฟินแลนด์ และกำลังศึกษาวิชาชีพครู แต่กลับมาเยี่ยมบ้านดูแลแม่ได้ยินเข้า จึงเกิดความสนใจสนทนากัน ภายหลังจึงได้นัดแนะกับพ่อแม่บ้านเรียน ท่านอื่น ๆ มาร่วมสนทนาด้วย
ติ่งฟินแลนด์
พ่อแม่ที่ทำบ้านเรียนมักจะเป็นติ่งฟินแลนด์กัน เพราะเราหาการศึกษาแบบนี้ไม่ได้ เราจึงต้อง Homeschool ลูกเอง เราจึงได้ยินได้ฟัง รับทราบเรื่องเล่าต่าง ๆ เกี่ยวกับโรงเรียนในฟินแลนด์ ประเทศที่มีประชากรประมาณ 5.5 ล้านคน มาพอสมควรแล้ว การพูดคุยจึงลงมักลงรายละเอียดและตรวจเช็คเรื่องต่าง ๆ ว่าจริงอย่างที่ร่ำลือกันหรือเปล่า และฟังเรื่องที่ผู้เล่าอยากเล่า และนี่คือเรื่องราวต่าง ๆ ที่เราได้พูดคุยวันนั้น

เรียนน้อย สอนน้อย
ผมเคยได้ยินว่า โรงเรียนที่โน้น ชั่วโมงเรียนน้อยมาก คือวันละ 3 – 4 ชั่วโมงเท่านั้นเลยสอบถามเพิ่มเติม คนเล่ายืนยันว่าจริง เริ่มเรียน 9 โมง เสร็จเที่ยง บางวันก็เริ่ม 10 โมง สำหรับชั้นประถม ส่วนมัธยมเรียนถึง 2 โมง คาบเวลาในระดับประถม คือ เรียน 45 นาที เสร็จแล้วพัก 15 นาที โดยระหว่างพักเค้าจะไล่ให้เด็กออกไปวิ่งเล่นนอกห้องไม่ให้อยู่ในห้อง ไม่ว่าฝน ตกแดดออก หิมะมา คือเค้าจะมีชุดกันฝน ชุดอะไรที่เหมาะกับสภาพอากาศ โดยให้เห็นผลว่าสมองของเด็กควรจะพักผ่อน เพื่อพร้อมสำหรับการรับเรื่องใหม่ ๆ ในคาบต่อไป
เรื่องนี้ผมเคยคิดไปเองว่าสวัสดิการที่โน้นคงดีมาก พ่อแม่คงชั่วโมงทำงานกันน้อยจนมีเวลามาดูแลลูกหลังเลิกเรียน แต่จริง ๆ แล้ว คือ พอเด็กเลิกเรียนก็เดินกลับบ้านไปอยู่กันเอง เพราะเรียนใกล้บ้าน บ้านเมืองมีความปลอดภัย เด็กกลับไปก็อยู่บ้านเองได้
คนเล่า แก้ความเข้าใจผิดว่าคุณครูเงินเดือนดี แต่จริง ๆ แล้ว คุณครูเงินเดือนกลาง ๆ เมื่อเทียบกับอาชีพอื่น เช่นครูประจำชั้นประถมจะเงินเดือนพอ ๆ กับพยาบาล แต่จะมีครูระดับสูงขึ้นไปที่สอนวิชาเฉพาะทางจะเงินเดือนพอ ๆ กับแพทย์ แต่ข้อดีคือครูที่นั่นสอนครึ่งวันก็เสร็จ และไม่ได้ทำงานหนัก เพราะสื่อการสอนมักมีสำเร็จรูปมาให้ ไม่ต้องเตรียมสื่อการสอนเอง หรือมีบางที่มาเตรียมตอนเช้าก็หาเอาแถวนั้น ครูที่นั่นมักไม่ทำงานในเวลาส่วนตัว ไม่เอางานกลับไปทำที่บ้าน ผมนึกถึงครูบ้านเราต้องมีเวรนอนเฝ้าโรงเรียน ทำให้นึกเห็นใจครูไทยไม่น้อย
สอนเนื้อหาน้อย แต่เน้นวิธีคิด หลักคิด
เด็กประถม จะเรียนเลขแค่ บวก ลบ คูณ หาร เลขหลักร้อยได้เท่านั้นเอง คือผมฟังแล้วก็ยังไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่ แต่คนล่าก็เป็นครูคณิตศาสตร์มาก่อน เล่าต่อว่า เค้าเน้นให้สมองเด็กว่าง ๆ ไว้ก่อน พอขึ้นมัธยมถึงจะใส่เต็มที่….ผมคิดในใจว่าใส่เต็มที่ยังไงก็สู้บ้านเราไม่ได้ ที่โน้นมัธยมเรียนแค่ บ่าย 2 เอง แต่เค้าเล่าต่อว่าลักษณะการสอนคือ ครูอาจจะสอน 1 2 3 ให้ส่วน 4 5 6 เน้นให้นักเรียนไปคิดต่อเอง
ในชั่วโมงคณิตศาสตร์ ครูอาจจะเปิดคลิบวิดีโอ เกี่ยวกับเนื้อหาให้เด็กดู และให้เด็กทำแบบฝึกหัดกันไป ใครทำเสร็จเร็วก็วาดรูป คนทำช้าก็ค่อย ๆ ทำไป พอหมดเวลาก็หยุด ได้แค่ไหนแค่นั้น ไม่ต้องทำต่อ คนเล่าก็ข้องใจเหมือนกัน เอาแล้วทำไม่เสร็จ ไม่เสร็จก็ไม่รู้เนื้อหาส่วนนั้นสิ ครูที่โน้นอธิบายว่า พรุ่งนี้ก็เรียนบทเรียนใหม่ แล้วบทเรียนใหม่มันก็ซ้ำเดิม เรียนเพิ่มขึ้นมาอีกนิดเดียวจึงไม่ต้องกังวล ครูจะมีการบ้านให้บ้าง แต่การบ้านต้องทำให้เสร็จเป็นการฝึกวินัย พอฟังถึงตรงนี้ผมว่าเรื่องนี้ผมคิดว่าเป็นประเด็นสำคัญเชื่อมโยงกับสิ่งที่ผมเคยได้ยินมาจากหนังสือต่าง ๆ ผมเลยเขียนเล่าแยกต่างหากในตอนที่ 2
ผู้เล่ายกตัวอย่างการเรียนเรื่องหิน ครูจะเก็บหินต่าง ๆ มาแล้วเอามาดูเทียบกับชาร์ต ให้เด็ก ๆ ช่วยกันวิเคราะห์ ว่าเหมือนกับหินชนิดไหน ถกเถียงกันแสดงความคิดเห็นกันไม่มีผิดถูก เทียบเคียงอภิปรายกันกันไป วันรุ่งขึ้นก็ถามว่าระหว่างทางกลับบ้านใครเจอหินอะไร ชนิดไหนกันบ้างเอามาคุยกันต่อ
พอหลักคิด วิธีคิดแน่น วินัยในตัวเอง มีความใฝ่รู้มี อยากจะบรรลุเรื่องไหน เด็ก ๆ จึงไปศึกษาหาวิธีเรียนรู้เองได้ ไม่ต้องสอนทุกเรื่อง
อาชีวะสร้างชาติ ทำได้ตั้งแต่เด็ก
ที่ฟินแลนด์มีวัฒนธรรมว่า ถ้ามีเด็กเล็ก ๆ แต่ละบ้านจะมีบ้านเล็ก ๆ ให้เป็นพื้นที่ของเด็ก ประมาณ 1.5 x 1.5 เมตร อาจจะเป็นกล่องหรือวัสดุอะไรให้เด็กรู้ว่าเป็นพื้นที่ของเค้า ที่ที่เด็ก ๆ จะใช้ชีวิตอยู่ ประมาณว่าให้ไปทำรกที่ตัวเอง จะได้ไม่ต้องรกทั่วบ้าน
คนเล่า นำรูป กางเกง ถุงมือ และเก้าอี้มาให้ดู เล่าว่าเป็นผลงานของเด็ก ป.4 ที่ทำเอง อย่างงานไม้นี่ทำตั้งแต่ไสไม้จนประกอบเป็นเก้าอี้ ทำให้ผมคิดต่อว่า เค้าแทบไม่ต้องสอนเลขในส่วนของการ ชั่ง ตวง วัด เลย เพราะสามารถเรียนรู้ได้จากการปฎิบัติจริง ซึ่งทำให้เข้าใจได้ง่าย รวดเร็ว ติดทนนานเข้าไปในร่างการโดยไมต้องท่องเลยทีเดียว
อุปกรณ์และโครงสร้างพร้อม ไม่ต้องเรียนมาก ผู้เรียนขวนขวายเองได้
โรงเรียนฟินแลนด์ทุกห้องจะมีเปียโน โรงเรียนมีโรงช๊อป ที่มีเครื่องไม้ เครื่องมืองานช่าง ไว้ครบถ้วน ตามที่ผมเคยเห็นคลิบเด็กโตได้ทำลำโพงเครื่องเสียงกัน ออกนอกโรงเรียนมีห้องสมุด มีสถานศึกษา คล้าย ๆ กับสารพัดช่างบ้านเรา ที่คิดค่าเรียนไม่แพง ทำให้แม้ว่าเด็กจะเรียนในโรงเรียนน้อย ในโรงเรียนสอนแค่ภาษาฟินแลนด์กับภาษาอังกฤษ ส่วนภาษาอื่นสามารถไปเรียนตามที่ตนเองสนใจนอกโรงเรียนได้ เห็นว่าคอร์สเรียนตัดผม เรียนกันถึง 2 ปีเลยทีเดียว
ภาษาอังกฤษที่นั่นเริ่มเรียน ป.4 ส่วนเด็กฟินแลนด์มักจะอ่านหนังสือกันพอได้ตั้งแต่เข้า ป.1 ด้วยเพราะพ่อแม่ส่งเสริมการอ่าน เล่านิทาน และมีเรียนปรับฐานเพิ่มก่อนเข้า ป. 1
ทีวีที่ฟินแลนด์จะไม่มีการพากษ์ทับ มาเป็นภาษาอังกฤษก็ฟังเสียงภาษาอังกฤษ มีแต่ขึ้น sub title ให้ ทำให้เด็ก ๆ คุ้นชินกับภาษาอังกฤษเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรียนภาษาอังกฤษได้เร็วขึ้น
ที่โรงเรียนระดับประถมไม่มีห้องแลปวิทยาศาสตร์ แต่การเรียนวิทยาศาสตร์อาศัยเข้าป่าไป ก็มีความรู้วิทยาศาสตร์มากมาย ซึ่งตรงนี้หลายโรงเรียนตามชนบทในบ้านเราก็ได้เปรียบเช่นกัน แต่ในระดับมัธยมจะมีห้องแลปวิทยาศาสตร์และอุปกรณ์พร้อม
ทุกคน ทุกหน่วย เคารพกัน ทำงานส่งเสริมกัน
ที่นั้นให้ความสำคัญกับสิทธิเด็กมาก ครูจะมีความระมัดระวังมากในการปฎิบัติต่อเด็ก ไม่มีการพูดจาดูถูกหรือเหยีดหยาบเด็กโดยเด็ดขาด มีกรณีหนึ่งที่ครูตีมือเด็กก็เป็นเรื่องใหญ่แล้ว
มีกรณีที่เด็กใส่เสื้อผ้ามีกลิ่นเหมือนฉี่แมวมาโรงเรียน ครูจะไม่ต่อว่าเด็ก แต่โทรเรียกพ่อแม่มาพูดคุยด้วย และถ้ายังไม่สามารถแก้ไขได้ จะส่งต่อไปที่สังคมสงเคราะห์เพื่อไปตรวจที่บ้าน ซึ่งที่นั่นจะมีการดูแลกันตั้งแต่ตั้งครรภ์ จะมีหน่วยอนามัยที่ดูแลแม่ท้องและเด็กทารกโดยเฉพาะคะ ดูตั้งแต่โภชนาการ พัฒนาการทารกและเด็กเล็ก
ที่นั้นจะไม่มีการประเมินครู เพราะเค้าเน้นความเชื่อใจกัน ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเอง ทำงานสนับสนุนกัน
ทั้งหมดนี้เป็นเนื้อหาที่ผมบันทึกมาจากโต๊ะสนทนาในวันนั้น พยายามเก็บเรื่องเล่าทั้งหมดมาเล่าให้ฟัง ซึ่งจริง ๆ เรื่องราวเกี่ยวกันการศึกษาของฟินแลนด์ ทุกท่านสามารถหาได้จากคลิบและบทความต่าง ๆ มากมายอยู่แล้ว ซึ่งผมรวบรวมไว้ที่นี่ แต่เรื่องนี้เพิ่มมุมองของ นักการศึกษาไทยที่ได้ไปใช้ชีวิตและได้เรียนรู้กับหน่วยงานที่นั่น ฝึกงานกับโรงเรียน 2 – 3 ที่ ซึ่งแม้จะบอกไม่ได้ว่า โรงเรียนที่นั่นจะเป็นเช่นนี้ทุกโรงเรียน เพราะคงมีแนวทางและรายละเอียปลีกย่อยที่แตกต่างกันไป แต่คุณภาพโรงเรียนจะทัดเทียมกัน ซึ่งทั้งหมดก็ช่วยทำให้เราได้เห็นภาพในรายละเอียดเพิ่มขึ้น
ผมต้องขอขอบคุณแม่เปิ้ลและคุณปุ๊ที่ทำให้เกิดเรื่องเล่าบทเรียนจากฟินแลนด์นี้ด้วยครับ
*****
ปล. ผมเคยเขียนเกี่ยวกับฟินแลนด์ด้วย สามารถเข้าไปอ่านได้ที่ 3 วิธีที่ทำให้ลูกอยู่ในระบบการศึกษาฟินแลนด์ : ระบบการศึกษาที่ว่ากันว่าดีที่สุดในโลก