ผมไม่ได้ส่งลูกเข้าโรงเรียน และที่บ้านผมใช้ระบบสองภาษากับลูก จึงทำให้ลูกพูดภาษาอังกฤษและไทยได้ตามวัย
ในเบื้องต้นตั้งใจว่าจะให้ลูกค่อย ๆ ซึมซับภาษาจนค่อย ๆ อ่านได้เอง เวลาอ่านหนังสือให้ลูกผมใช้วิธีชี้ที่ตัวหนังสือไปพร้อม ๆ กับออกเสียงให้ลูกฟัง ชวนลูกอ่านป้าย ตามสถานที่ต่าง ๆ แต่ความถี่อาจจะไม่มากนัก เพราะช่วงหลัง ๆ ยอมรับว่าอัตราในการอ่านลดลง เพราะมี youtube มี app อ่านหนังสือ และลูกชอบฟังนิทานจากเสียง พอลูกโตขึ้นก็เลิกเห่อ ไม่ค่อยชวนอ่านป้ายเหมือนตอนเด็ก ฯลฯ สังเกตเห็นมีเด็กบางคนที่พ่อแม่ใช้วิธีคล้าย ๆ กันแต่ทำต่อเนื่องจนสามารถอ่านหนังสือได้เองตั้งแต่ 4 ขวบแล้วก็มี……ด้วยเด็กแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันอันนั้นลูกเขาไม่ใช่ลูกเรา คนละบ้านคนละสิ่งแวดล้อม ^ ^
พอลูกอายุได้ 7 ขวบคุณแม่เริ่มอยากให้ลูกอ่านหนังสือได้เอง เพื่อที่เขาจะได้อ่านเรื่องที่ตัวเองสนใจและเปิดโลกการเรียนรู้ของลูกให้กว้างขึ้น ……ความจริงก็คือ เราจะได้ไม่ต้องอ่านให้ฟัง 🙂
เริ่มต้นพอนึกถึงภาษาไทย เราได้สั่งหนังสือ มานะ มานี เล่ม 1 และ 2 มาเป็นแบบเรียน พอเริ่มใช้ไปได้สักครึ่งเล่ม ลูกเริ่มเบื่อและไม่สนุก คนสอนก็รู้สึกได้เริ่มหงุดหงิดเกิดความเครียดในการเรียนรู้ คุณแม่จึงเริ่มคิดถึงวิถีการอื่น
เนื่่องจากที่บ้านให้ความสนใจกับดนตรี พ่อและแม่ฟังเพลงกันเป็นประจำอยู่แล้ว (ผมเคยเขียนถึงเรื่อง การเรียนดนตรีเด็กเล็กไว้ที่นี่ เล่าถึงดนตรีคือภาษาหนึ่ง) คุณแม่เลยเปลี่ยนวิธีใหม่ โดยพริ้นเอาเพลงที่เราชอบ หรือเพลงที่ลูกชอบ คือเป็นเพลงที่ฟังร่วมกันเป็นประจำ มาใช้ในการสอนอ่าน หากเป็นเพลงใหม่ก็เปิดให้ฟังจนชินหูสัก 3 – 7 วันแล้วแต่จังหวะ เมื่อลูกคุ้นหูกับเพลงแล้ว ผมก็จะค้นหาเนื้อเพลงในอินเตอร์เน็ตแล้ว พริ้นเนื้อเพลงออกมาให้ลูกได้อ่านเนื้อเพลง โดยมีแม่ช่วยในการฝึกอ่าน เพลงที่เปิดให้ฟังก็เป็นเพลง pop เพลง rock ปรกติ คือเป็นเพลงที่เราชอบฟังกันจริง ๆ ไม่ใช่เพลงสำหรับเด็กและเราใช้วิธีนี้กับทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ นี่เป็นตัวอย่างเพลงที่ลูกฟังและอ่านเนื้อ
ผลจากการใช้เนื้อเพลงในการฝึกอ่านทำให้ลูกสามารถเรียนรู้การอ่านได้อย่างรวดเร็ว ผมวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะเพลงช่วยให้การจำเสียงกับภาพตัวหนังสือจับคู่กันโดยง่าย
ระหว่างนี้คุณแม่ก็มีสอนโฟนิคเสริมด้วยในภาษาอังกฤษ เพราะลูกคุ้นชิ้นกับภาษาอังกฤษมากกว่าดูคลิบ youtube ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ส่วนในภาษาไทย ลูกมีความคุ้นเคยน้อยกว่า และคำในภาษาไทยไม่ได้มีวรรคแยกคำ ช่วงแรก ๆ คุณแม่ต้องใช้ปากกาขีดเส้นใต้ เพื่อช่วยลูกในการแยกคำ แต่ละคำออกจากกัน ทำให้อ่านได้ง่ายขึ้น
ภายหลังจากใช้วิธีการนี้ไม่นาน ช่วงเวลาเพียง 3 – 6 เดือนลูกก็สามารถอ่านหนังสือได้คล่องมากขึ้น จะติดตรงศัพท์ยาก ๆ แปลก ๆ บ้าง สามารถอ่านบทความนี้ได้เอง มีติดต้องถามผม 2 – 3 จุด ที่สำคัญคือวิธีนี้ไม่ได้ใช้ความพยายามมาก ทำแบบสบาย ๆ เพราะเราฟังเพลงกันในรถในบ้านอยู่แล้ว เพิ่มเติมแค่พริ้นเนื้อมาอ่านไปด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม ผมยังมีความเชื่อว่า เด็กสามารถค่อย ๆ เรียนรู้การอ่านได้จากสิ่งแวดล้อม แต่ใช้เวลาเร็วหรือช้าตามแต่ปัจจัยและสิ่งแวดล้อมของเด็กแต่ละคน ทั้งที่เป็นปัจจัยพื้นฐานจากตัวเด็กเอง และปัจจัยแวดล้อม เช่น ความถี่ในการอ่านหนังสือให้ฟัง การสร้างโอกาสในการเรียนรู้เช่น การชวนอ่านป้าย ฯลฯ
พ่อแม่ผู้ปกครองที่ไม่เร่งลูกในการฝึกอ่านเขียน มักให้ความสำคัญกับการใฝ่รู้ รักการอ่านของเด็ก จึงระมัดระวัง ในการสอนอ่านสอนเขียนและการเลือกหนังสือให้ลูกอ่าน ผมสังเกตหลาย ๆ คนที่เดินตามทางนี้ มีบางครอบครัวแม้เด็กจะอ่านได้เมื่ออายุเกือบ 9- 10 ขวบ แต่ก็มีความใฝ่รู้และรักการอ่าน มี post ที่น่าสนใจใน facebook ที่สอดคล้องกับที่ผมเล่ามาคือ comment ใน post นี้ และ post ใน เพจ homeschool อันนี้ และอันนี้
เป้าหมายที่เราควรให้ความสำคัญจึงเป็นเรื่อง การรักษาความใฝ่รู้และรักการอ่านของเด็กไม่ใช่เพียงสนใจแต่ว่าเด็กจะอ่านหนังสือได้เมื่อไหร่
อย่างไรก็ตามเด็กควรจะอ่านได้เมื่อไหร่ คงจะขึ้นอยู่กับแต่ละครอบครัวหรือโรงเรียน วิธีที่เล่ามาใช้ได้ผลดีในการกระตุ้นให้เด็กอ่านเป็นเร็วขึ้นและไม่ได้เป็นภาระผู้ปกครองมากนัก จึงเอามาแนะนำกันครับ
ถ้าคิดว่าเป็นประโยชน์สามารถแชร์ต่อได้เลยครับ