วันนี้เป็นวันที่ลูกสาวสีฝุ่นได้เริ่มเรียนภาษาเยอรมันอีกครั้ง คุณครูใจดี สอนสบาย ๆ และเป็นกันเอง ครูเล่าว่าเคยสอนคณิตศาสตร์มาก่อน เลยจะสอนภาษาเยอรมันผ่านการเรียนคณิตศาสตร์ไปด้วย
การเรียนภาษาเยอรมันของสีฝุ่น เป็นอีกตัวอย่างที่ดี ที่พวกเราคนทำบ้านเรียนมักจะยืนยันต่อเจ้าหน้าที่เขตและนักการศึกษาเสมอ ว่าเราไม่สามารถจัดการเรียนการสอนแบบที่มี ตารางการเรียนการสอน การกำหนดหัวข้อล่วงหน้าไว้ได้ เรารู้ทางเดินคร่าว ๆ เราบอกได้ในบางเรื่องแต่ไม่ทั้งหมด เช่นถ้าเรามีตารางเรียนเปียโน เรียนว่ายน้ำของลูกไว้อยู่แล้ว เราก็บอกได้ว่า เรื่องนี้ประมาณกี่ชั่วโมง จะพัฒนาไปถึงประมาณไหน เราเปิดเวลาส่วนใหญ่ไว้สำหรับอนาคตที่เราไม่รู้ เหมือนมีแก้วที่ว่างรอไว้
แน่นอนสิ่งเหล่านี้ดูห่างไกลจาก ความคิดความเชื่อ และความเข้าใจของนักการศึกษาในระบบมากเหลือเกิน และนี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่อยากเล่าว่าเป็นอย่างนั้นจริง ๆ
ก่อนออกจากบ้านผมคิดกับตัวเองว่า นี่มันเหมือนไม่มีการวางแผนเอาเสียเลย แต่มันก็ทำให้ให้ชีวิตง่าย พร้อมก็เดิน ไม่รู้จะไปทางไหนก็หยุดก่อน ดูเรียบง่ายแบบเซน แต่พอนึกอีกที ดันไปนึกถึงคำของ ขงจื่อที่ว่า “เรียนรู้โดยไม่คิดนั้นสูญเปล่า แต่คิดโดยไม่เรียนรู้นั้นอันตราย” ไม่รู้เกี่ยวกันหรือเปล่า แต่ผมนึกถึง
ทีเด็ดคือ ครูถามสีฝุ่นว่า ทำไมถึงอยากเรียนภาษาเยอรมันล่ะ สีฝุ่นตอบด้วยความเงียบ
ผมก็ยิ้ม 555 ถ้าตอบคร่าว ๆ ก็อยากจะบอกว่าก็เพราะพ่อแม่ส่งมา แต่ถ้าตอบจริง ๆ ผมอยากจะตอบว่ามันคงเป็นเพราะ “โชคชะตา”
โชคชะตาได้นำพาให้เรามารู้จักครอบครัวหนึ่งที่เริ่มทำบ้านเรียนและคุณแม่รู้ภาษาเยอรมัน อยู่มาวันหนึ่ง แม่สีฝุ่นก็ชวนให้แลกเปลี่ยนกันสอน โดยแม่สีฝุ่นสอนศิลปะให้ลูกเค้าและแม่เค้าสอนภาษาเยอรมันให้สีฝุ่น แต่เริ่มได้ 2 – 3 ครั้งก็มีเหตุให้ต้องหยุด ด้วยข้อจำกัดของเวลาและความยุ่งเหยิงของชีวิต 🙂 แต่นั่นก็เพียงพอต่อการผลักล้อให้เริ่มหมุน
ภายหลังคำถามของครู ผมนึกถึงการ เชื่อมต่อของจุดในชีวิตของเราแต่ละคน ที่ Steve job พูดถึง
“Jobs กล่าวไว้ในพิธีจบการศึกษาของมหาวิทยาลัย Stanford เมื่อปี 2005 ว่าการเรียนรู้หรือการได้มีประสบการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เปรียบเสมือน “จุด” หนึ่งจุด ความสำเร็จในชีวิตมักมาจากการ “เชื่อมโยงจุด” ต่างๆ เหล่านั้นเข้าด้วยกันแล้วสามารถสร้างสรรค์สิ่งที่มีคุณค่าขึ้นมาได้สำเร็จ
“It was impossible to connect the dots looking forward when I was in college.
But it was very, very clear looking backwards ten years later.”
“มันเป็นไปไม่ได้เลยที่ผม [Steve Jobs] จะเชื่อมโยงจุดในชีวิตไปได้ล่วงหน้าตั้งแต่ตอนที่เรียนอยู่ แต่ 10 ปีให้หลังเมื่อย้อนมองกลับไป ผมกลับเห็นว่ามันมีความเชื่อมโยงที่ชัดเจนอย่างมาก” อ่านทั้งหมดได้ใน จุดต่อจุด : ชีวิตคือการสะสมและเชื่อมโยงจุด (อ่านทัังหมดได้ที่ http://www.a-academy.net/blog/connecting-the-dots/)
นี่คงจะเป็นจุดจุดหนึ่งในชีวิตของสีฝุ่น ที่โยงหรือไม่โยงต่อไปสู่เรื่องอื่น ๆ ก็ได้ เป็นเรื่องอนาคตที่ไม่มีใครรู้
จริง ๆ ผมควรจะเขียนเท่านี้ แต่อยากอธิบายกับนักการศึกษาต่อว่า เรื่องแผนการศึกษานี้มีรายละเอียดอย่างไร
ใจก็อยากจะบอกว่าไม่มีแผน แต่มันก็ไม่ใช่ คือ เราคิดอยู่เสมอ (วางแผน) ว่าอยากให้ลูกได้รู้ภาษาที่ 3 แต่ ด้วยข้อจำกัดของ งบประมาณบ้าง การเลือกครูและวิธีการสอนบ้าง ทำให้เราไม่ได้กำหนดตายตัวว่าต้องเมื่อไหร่ แค่ไหน สำหรับสีฝุ่นมีการเรียนภาษาจีนอยู่บ้าง แต่เรียน ๆ หยุด ๆ บ้างตามที่แม่บ้านเรียนอีกบ้านสามารถสอนได้ ภาษาเยอรมันก็ไม่เคยอยู่ในความคิดมาก่อน
ผมจึงคิดว่ามันเป็นเรื่องของการ วางแผน และการ (ละ)วางแผน (ทิ้งแผน) หรือพูดง่าย ๆ ปรับแผน เพื่อให้เราได้ใช้ประโยชน์สูงสุดในแต่ละช่วงเวลา ตามข้อจำกัดของงบประมาณ เวลา ทรัพยากรที่เรามี ซึ่งระบบโรงเรียนหรือระบบที่ผูกกับผู้เรียนจำนวนมากทำไม่ได้
กระบวนการวางแผน ปรับแผน หยุด ยกเลิก เริ่มเรียนใหม่สำหรับคนที่จัดการศึกษาให้เด็กจำนวนน้อยมันเป็นได้อย่างรวดเร็วมาก บางเรื่องหนึ่งปี บางเรื่องวันสองวันก็ปรับแล้ว และไม่ได้เท่ากันในแต่ละเรื่อง (วิชา) บางเรื่องใช้แผนเดิมต่อเนื่องได้หลายปี บางเรื่อง 2 อาทิตย์ก็จอดแล้วเพราะลูกไม่อยากเรียนต่อหรืออาจจะมีข้อจำกัดเรื่องเวลา เรื่องเงิน ฯลฯ
ผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นหัวใจความสำเร็จในการจัดการศึกษาโดยครอบครัว เพราะสามารถเลือกทำสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับสถานการณ์ของครอบครัวในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ได้เลย แม้แต่โรงเรียนของฟินแลนด์ก็มีความพยายามที่จะปรับให้ยืดหยุ่นที่สุด ดูได้จากการประกาศยกเลิกวิชา แล้วเรียนเป็นเรื่อง ๆ แทน
ดังนั้นการเรียกร้องให้เราใส่รายละเอียดแผนจึงไม่ได้ช่วยให้เราจัดการศึกษาได้ดีขึ้น แต่การช่วยแนะนำให้เราเขียนรายงานที่มีความละเอียดตามสิ่งที่เกิดขึ้นจริง การอ่านรายงานการจัดการศึกษาและแนะนำเราจากตรงนั้้นจะมีประโยชน์กว่า